Tag Archives: งานพิสูจน์อักษร

พิสูจน์อักษรฟรีแลนซ์ ตอนที่ 3

สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลังห่างหายจากการเขียน blog ไปนาน วันนี้เรามีเรื่องราวเกี่ยวกับการเป็นพิสูจน์อักษรฟรีแลนซ์มาเล่าให้ฟัง (อ่าน) กันค่ะ แต่ไม่รับประกันความสนุกนะคะ (ฮา)

หลังจากที่เรารับงานฟรีแลนช์เต็มตัวมาได้ราว 1 ปี มีลูกค้าหลากหลายมากค่ะ ทั้งนักศึกษา อาจารย์ สำนักพิมพ์ บุคคลทั่วไป รวม ๆ แล้ว 20 กว่าคนได้ ที่ทั้งจ้างต่อเนื่อง และไว้ใจเราให้ตรวจงานสำคัญ ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ คุณทำให้เราเก่งขึ้นอีกขั้นหนึ่งค่ะ …

อะ มาเข้าเรื่องกันดีกว่า หลังจากเรารับงานมาได้สักระยะ ก็มีลูกค้าคนหนึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังอันดับหนึ่ง ศึกษาในคณะกฎหมาย ติดต่อให้เราตรวจหนังสือของเขาค่ะ ตกลงราคากันเรียบร้อย เขาก็ส่งสัญญามาให้เราเซ็น เราก็อ่านดู ใจความหลักคือ ห้ามเผยแพร่งานของเขา และไม่มีการเรียกเก็บค่าตรวจเพิ่มเติมเด็ดขาด ซึ่งเราก็โอเคนะคะ เนื่องจากเรามีจรรยาบรรณอย่างสูงอยู่แล้วค่ะ เราไม่มีทางเปิดเผยความลับ หรือผลงานของลูกค้า แต่ !!! มาสะดุดกับด้านท้ายของสัญญา… ถ้ามีการผิดข้อตกลง ต้องจ่ายค่าเสียหาย 20 ล้านบาท !!!! 

เซนเซอร์ชื่อหนังสือ และชื่อคนแต่งเรียบร้อยแล้วนะคะ

 

แลกกับเงินค่าตรวจ 800 บาท นี่ไม่คุ้มเลยนะคะ (ฮา) เราก็เลยแอบสวดลูกค้าไปนิดหน่อย ลูกค้าถามเราว่า ถ้าเราไม่ได้คิดจะผิดสัญญา จะกลัวทำไม… เราก็เลยตอบไปว่า สัญญาคุณมีช่องโหว่ “ห้ามดาวน์โหลดลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์” แล้วดิฉันจะทำงานยังไงเล่าคะ? ยังไงก็ต้องโหลดลงเครื่องเพื่อตรวจงาน และอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าเกิดงานมันไปหลุดตอนที่ส่งให้คุณแล้ว เราจะไว้ใจได้ยังไงคะว่าคุณจะไม่หักหลังเรา มาเรียกค่าเสียหายจากเรา แม้ว่าศาลจะไม่ให้จ่ายถึง 20 ล้านก็เถอะ! ซึ่งหลังจากพูดคุยกัน ทางลูกค้าจะแก้สัญญาตรงดาวน์โหลดลงเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ แต่เราเสียความรู้สึกไปแล้วค่ะ… เลยตัดสินใจไม่รับงานดีกว่า ปรึกษาเพื่อนที่เป็นทนายมันก็บอกว่าโหดเกินไป ที่สำคัญไม่คุ้มเลยค่ะระหว่างความเสี่ยงกับค่าจ้างที่ได้รับ

ไม่แน่นะคะ ตอนนี้ผลงานของเขาอาจจะกำลังโด่งดัง หรือกอบกู้โลกได้แล้วก็เป็นไปได้!

ซีเรียสไหมคะ คุณผู้อ่าน แค่เรื่องแรกเอง มาต่อกันที่เรื่องที่สองดีกว่า อันนี้มาสไตล์ขำ ๆ กันบ้าง

หลังจากที่เราประกาศรับงานพิสูจน์อักษร และให้ไลน์ไอดี อีเมล กับผู้ที่สนใจงานด้านนี้ หรือปรึกษาเรื่องต่าง ๆ ก็มีทั้งพี่ ๆ น้อง ๆ ที่น่ารักหลายคนค่ะ ที่เป็นพิสูจน์อักษร หรือเพิ่งเริ่มทำงาน สอบถามความรู้บางประการเกี่ยวกับคำต่าง ๆ บ้างก็แลกเปลี่ยนเรื่องอาชีพพิสูจน์อักษร บ้างก็ชอบบทความของเรา บางคนก็กลายเป็นกัลยาณมิตรกันเลยทีเดียวค่ะ ทำขนมส่งมาให้เราแทนคำขอบคุณบ้าง ซึ่งเราขอขอบคุณสำหรับข้อความมากมายที่ส่งมานะคะ แต่ก็มีบ้างบางคนที่เราไม่ได้ตอบ ไม่ใช่ว่าหยิ่งอะไรนะคะ แต่เราไม่มีเวลา หรือบางเรื่องเราก็อธิบายใน blog ไว้แล้ว …

วันหนึ่งที่เราเจอคือ มีผู้หญิงคนหนึ่งส่งข้อความมาว่า

“พี่ค่ะ แบ่งงานให้หนูหน่อย หนูอยากเป็นพิสูจน์อักษรคะ”

…. 

เห็นอะไรในข้อความนี้ไหมคะ คุณผู้อ่าน … นี่ไม่ใช่การประจาน เพียงแต่ว่า น้องยังใช้คะ ค่ะ ยังไม่ถูกต้องเลย จะให้พี่แบ่งงานอะไรให้คะ? งานนี้ยังไม่เหมาะกับน้อง แต่เราก็ไม่กล้าที่จะพิมพ์ตอบไปแบบนั้น เลยเลือกที่จะเงียบดีกว่า .. หรือมีอีเมลส่งมา สมัครงานพิสูจน์อักษร กับเรา…

“พี่คะ หนูอยากทำงานนี้ นี่เป็นตารางเรียนเทอมหน้าของหนู” แนบไฟล์มาให้เสร็จสรรพ…เดี๋ยวนะคะ ตรงไหนที่พี่บอกว่า พี่รับสมัครงาน พี่ “รับพิสูจน์อักษร” ค่ะ และอธิบายรายละเอียดราคาไว้หมดแล้ว ถ้าน้องยังไม่ยอมอ่านจนจบ หรืออ่านแค่ผ่าน ๆ ไม่ตีความ น้องก็ยังไม่เหมาะที่จะทำงานด้านนี้ …. (เช่นเคยค่ะ เราไม่กล้าที่จะพิมพ์ตอบไปเช่นนั้น เลยเลือกที่จะเงียบดีกว่า)

หรือบางคนแอดมาปรึกษาค่ะ ว่าอยากทำงานด้านนี้ ควรทำยังไง เมื่อเราแนะนำไป และถามเขาว่า เคยมีประสบการณ์ด้านนี้หรือชอบอ่านหนังสือไหมคะ เขาตอบเราว่า “ดิฉันเป็นครูภาษาไทยค่ะ ออกข้อสอบ…ทุกปี มั่นใจมากว่ามีความรู้มาก ๆ” ท่าทีที่มั่นใจในตัวเองสูง เราเชื่อว่าเขาน่าจะมีความรู้มากกว่าคนจบเกียรตินิยมภาษาไทยเหรียญทองแบบเราแน่ ๆ ค่ะ เพราะเราไม่เลือกอาชีพครู เราลืมทางด้านเนื้อหาไปเยอะทีเดียว …แต่เราก็ไม่อยากขัดคุณครูนะคะ การเป็นครูใช่ว่าจะเป็นนักพิสูจน์อักษรกันได้ดีทุกคน …เพราะครูก็มีหลายแบบค่ะ คนที่เป็นนักพิสูจน์อักษรได้ดีสำหรับเรา คือนักอ่าน และช่างสงสัยค่ะ … (เราเลยเลือกที่จะเงียบ เพราะไม่กล้าตอบไป)

บางทีเราก็เป็นคนตรงเหมือนกัน แต่บางอย่างก็ไม่สามารถตอบได้ทุกอย่างดังใจคิด เพื่อรักษาน้ำใจคนที่เขาอุตส่าห์อยากหวังพึ่งเรา …

ชักจะเครียดแล้วไหมคะ คุณผู้อ่าน 😑 ยังมีอีกหลายเรื่องราวเลยค่ะ ที่อยากจะเล่าเป็นประสบการณ์ ที่มีทั้งเครียด ขำขัน ครบรส… ไว้มาติดตามตอนต่อไปกับพิสูจน์อักษรสตอรี่นะคะ

 

จนกว่าจะพบกันใหม่

สิรินัดดา 

ติดต่องานพิสูจน์อักษรได้ที่
Line id : sirinadda-y (ช่องทางที่ไวที่สุด)
Facebook : Yungie Sirinadda
E-mail : sirinaddaa@gmail.com

พิสูจน์อักษรฟรีแลนซ์ ตอนที่ 2

สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่าน หลังจากเขียนเล่าเกี่ยวกับการทำงานพิสูจน์อักษรฟรีแลนซ์ในตอนที่ 1 พิสูจน์อักษรฟรีแลนซ์ มีพี่ที่ทำงานทางด้านพิสูจน์อักษรอีเมลมาคุยด้วย และสนใจการทำงานพิสูจน์อักษรฟรีแลนซ์ เอ่ยชมที่เราเปรียบอาชีพการพิสูจน์อักษรว่าเหมือนกับ การปิดทองหลังพระ ซึ่งขอบคุณมาก ๆ นะคะ ที่เข้ามาพูดคุยกัน เพราะเราคือเพื่อนร่วมสายงาน รวมถึงใครก็ตามที่รักงานนี้ คงเข้าใจความหมายของการทำงานปิดทองหลังพระเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังมีน้องคนหนึ่งแอดไลน์มาปรึกษาว่าอยากทำงานพิสูจน์อักษร ต้องทำอย่างไรบ้าง ในตอนที่ 2 นี้ จึงมีคำแนะนำดี ๆ มาฝากกันค่ะ แต่ออกตัวไว้ก่อนนะคะว่า เราเองก็เพิ่งกระโจนเข้าวงการฟรีแลนซ์ได้ไม่กี่เดือนเท่านั้น เพราะมีงานพิสูจน์อักษรประจำวัน (ที่ตรวจงานเยอะมากในแต่ละวัน แต่จบภายในวันนั้น ๆ) เพียงแต่ช่วงนี้อยากมีรายได้พิเศษ จึงรับงานเพิ่มเข้ามา ซึ่งก็มีมาเรื่อย ๆ เลยค่ะ ขอบคุณลูกค้าที่ไว้วางใจให้ตรวจงานสำคัญนะคะ งานทุกชิ้นมีความหมายกับเรา เพราะมันทำให้เรารู้คุณค่าของเงินมากขึ้น และการได้เห็นงานเขียนของใครคนหนึ่งไม่มีข้อผิดพลาด เป็นความสุขของเราอย่างหนึ่งค่ะ

สำหรับผู้ที่สนใจรับงานพิสูจน์อักษรฟรีแลนซ์ กรณีผู้ไม่มีประสบการณ์มาก่อน

 1. ต้องมั่นใจว่าคุณมีความละเอียดรอบคอบ ช่างสังเกต และช่างสงสัย
         เพราะงานพิสูจน์อักษร ไม่ใช่แค่ตรวจตัวสะกดแล้วจบกัน แบบนั้น
ใคร ๆ ก็ทำได้ แค่คุณดาวน์โหลดแอปพจนานุกรมในมือถือมาเปิดดู
แต่มันยังหมายรวมถึงการตรวจเนื้อหา คำไม่สละสลวย การเรียงประโยค
คำฟุ่มเฟือย ข้อมูลบางอย่างที่ควรตรวจสอบด้วย เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของพิสูจน์อักษรได้ที่นี่
พิสูจน์อักษร

2. ติดต่อสอบถามไปยังสำนักพิมพ์ที่คุณสนใจร่วมงาน
          อาจเริ่มจากสำนักพิมพ์เล็ก ๆ หรือแนวหนังสือที่คุณชอบก็ได้ค่ะ
โดยติดต่อสอบถามว่ารับพิสูจน์อักษรฟรีแลนซ์หรือไม่
คุณมีความสนใจที่จะทำงานด้านนี้ ถ้าเขารับ ก็อาจจะลองให้เขาส่งงานมา
ทดลองตรวจก่อนก็ได้ ถ้าเขาเห็นว่าคุณมีฝีมือ ก็อาจจะได้งาน ซึ่งโดยทั่วไป
ช่วงที่งานชุกชุม คือช่วงก่อนสัปดาห์หนังสือแห่งชาติค่ะ
เป็นช่วงที่ สนพ.ต่าง ๆ จะเร่งผลิตหนังสือจำนวนมาก
อาศัยจังหวะนี้แหละค่ะในการเริ่มต้นงานพิสูจน์อักษร เนื่องจาก
บางครั้งพนักงานพิสูจน์อักษรประจำอาจทำงานไม่ทัน ซึ่งหากยิ่งเร่ง
ทำด้วยแล้ว ข้อผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ บางสำนักพิมพ์จึงอาจมองหา
พิสูจน์อักษรฟรีแลนซ์ในช่วงเร่งด่วนนี้

3. ทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์, ใส่คำค้นให้ผู้จ้างค้นหาคุณพบ
เช่น การเขียน blog ความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยที่คุณมี
ความสนใจงานพิสูจน์อักษร, มุมมองต่องานพิสูจน์อักษร,
ประกาศรับงานพิสูจน์อักษร, จัดทำเพจเฟซบุ๊กรับงาน เป็นต้น
โดยใส่ tag หรือคำค้นเพื่อให้ผู้จ้างงานหาคุณเจอ
เช่น ใส่คำค้นในงานเขียนว่า พิสูจน์อักษร, รับพิสูจน์อักษร
รับตรวจปรู๊ฟ เป็นต้น กรณีของเราเริ่มจากข้อ 3 นี่แหละค่ะ
ถึงมีผู้จ้างงานหาเราพบ คุณเองก็เจอเรา จากการเสิร์ช
google ใช่มั้ยคะ?

4. ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานพิสูจน์อักษรโดยตรง
นอกจากพจนานุกรมที่เป็นคัมภีร์สำคัญแล้ว พิสูจน์อักษรจำเป็นต้อง
ทราบหลักเกณฑ์การทับศัพท์ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษไว้ด้วย
รวมถึงการใช้วรรคตอน การเว้นวรรคเครื่องหมายต่าง ๆ
ของราชบัณฑิตยสภา ซึ่งเป็นหลักอ้างอิงสำคัญของนักพิสูจน์อักษร
โดนสามารถศึกษาได้จากลิงก์นี้
หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ
หลักเกณฑ์การเว้นวรรค

นี่ก็เป็นข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ จากใจคนทำงานพิสูจน์อักษรฟรีแลนซ์ค่ะ
สำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ หรือนักศึกษาเรียนจบใหม่ อาจจะยากสักนิดนึง
เนื่องจากสำนักพิมพ์โดยส่วนมาก มักจะไว้ใจฝีมือพิสูจน์อักษรหน้าเก่า
ซึ่งเคยร่วมงานกันแล้วหลายครั้ง  ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ หาประสบการณ์ให้ได้ค่ะ
อาจเริ่มต้นจากงานในสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ก่อน และค่อยก้าวไปในองค์กรที่ใหญ่ขึ้น
งานพิสูจน์อักษร เป็นงานที่ไม่เติบโตมาก ทั้งเรื่องของเงินเดือน และตำแหน่ง
แต่คุณสามารถรับงานพิเศษเพื่อทำในวันหยุดได้ หากต้องการรายได้เพิ่มขึ้น

งานพิสูจน์อักษรเป็นงานที่คนส่วนใหญ่ทำเพราะใจรัก และย้ายสายงานไปมากก็มี
เนื่องจากไม่เติบโต และค่าตอบแทนน้อย ถ้าคุณรักงานด้านนี้
อาจจะทำเป็นอาชีพเสริมก็ได้ค่ะ แม้ว่ามันอาจจะไม่ใช่อาชีพที่ร่ำรวย
มีหน้ามีตาเหมือนนักเขียน ได้รับความชื่นชมแบบนักข่าว หรือเดี๋ยวนี้มีโปรแกรม
ตรวจพิสูจน์อักษรในคอมพิวเตอร์เสียด้วยซ้ำ แล้วพิสูจน์อักษร ยังจำเป็นอีกเหรอ?

จำเป็นแน่นอนค่ะ เพราะคนที่ละเอียดรอบคอบ และอ่านหนังสือมามากเท่านั้น
จึงจะเหมาะกับงานนี้ เพราะลองให้นักข่าว หรือนักเขียนบางคนมานั่งตรวจปรู๊ฟ
เชื่อสิคะว่า เขาทำไม่ได้หรอก ถ้าไม่รอบคอบ ไม่มีทางทำงานนี้ได้สำเร็จ
แต่คุณเองสามารถทำงานเป็นนักเขียน หรือนักข่าวได้ เพราะคุณอ่านมามากแล้ว
และมีความรู้รอบตัว มีความสามารถในการจับประเด็น อีกทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์เอง
ก็ไม่สามารถแก้ไขทุกอย่างได้ละเอียดเท่ากับความรอบคอบของมนุษย์

บางที เจ้าของ blog เอง วันหนึ่งก็อาจจะย้ายสายงานเหมือนกัน
หลายครั้งมีคนพูดว่า จบเกียรตินิยมอันดับหนึ่งมานั่งเป็นแค่ปรู๊ฟทำไม
เคยโกรธในใจนะคะ แต่คิดว่า บางทีความสุขของคนเราไม่เหมือนกัน
เราอาจจะถนัดอะไรที่ต่างกัน เพราะทุกงานล้วนมีคุณค่าในตัวของมันเอง
ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานใหญ่หรืองานเล็ก ทำอะไรที่เราสบายใจ
มีความสุขที่ได้ทำ แค่นี้ก็พอแล้วค่ะ อนาคตค่อยว่ากันอีกครั้ง
เพราะชีวิตคนเราเปลี่ยนไปทุกวัน.

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเป็นพิสูจน์อักษรได้ที่
พิสูจน์อักษรสตอรี่  และความรู้ภาษาไทยดี ๆ
ในหัวข้อ ภาษาไทยน่ารู้

จนกว่าจะพบกันใหม่
สิรินัดดา

 

ติดต่องานพิสูจน์อักษร หรือพูดคุยกันได้ที่

Line ID : sirinadda-y (ช่องทางที่เร็วที่สุด)
Facebook : Yungie Sirinadda
E-mail : sirinaddaa@gmail.com

 

 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษรฟรีแลนซ์

 

สวัสดีค่ะ สำหรับตอนนี้ สิรินัดดาขอแบ่งปันประสบการณ์
รับงาน พิสูจน์อักษรฟรีแลนซ์  งานแรกค่ะ
ตามปกติแล้ว เราก็ใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือน ตรวจพิสูจน์อักษร
ให้กับองค์กรสื่อแห่งหนึ่ง มาเกือบ 5 ปีแล้ว
แต่ช่วงนี้อยากหารายได้พิเศษเพิ่มเติม เลยตัดสินใจลงประกาศรับงาน

โดยหลังจากเขียนประกาศได้ราว 20 วัน ก็มีนักศึกษาส่งข้อความมาทางไลน์
ขอให้ตรวจพิสูจน์อักษร และรีไรต์ภาคนิพนธ์ ระดับปริญญาตรี จำนวน 74 หน้า
ยอมรับว่าตอนแรกก็คิดราคาค่าจ้างไม่ถูกค่ะ เพราะเป็นงานแรก
ลองเสิร์ชหาข้อมูล มีทั้งคิดตามจำนวนหน้า คิดเหมาทั้งเล่ม
เราเลยคิดราคาหน้าละ 10 บาท (ซึ่งมารู้ภายหลังว่าราคานี้ถูกมาก
สำหรับการตรวจอักษรและรีไรต์ในคราวเดียว) แต่ไป ๆ มา ๆ น้องนักศึกษาขอ
ให้คิดเงินเพิ่มเนื่องจากเห็นว่าราคาที่เราเรียกนั้นถูกไป ลูกค้าแบบนี้ก็มีด้วย!
เราเลยคิด 1,000 บาท แต่สุดท้ายน้องโอนเงินมา 1,200 บาท
เพราะเห็นว่างานของเราเรียบร้อยดี

เราลงมือตรวจแก้ไขงาน ทั้งตรวจคำผิด ปรับภาษาให้เป็นทางการตามแบบงานวิจัย
การเว้นวรรค การตัดคำฟุ่มเฟือยทั้งหลาย และสังเกตข้อบกพร่องจุดต่าง ๆ ของงาน
ซึ่งงานวิจัยเฉพาะทางของนักศึกษาจะตรวจแก้ยากกว่างานนวนิยายมาก
เนื่องจากต้องปรับภาษาให้เป็นทางการทั้งหมด

เราใช้เวลา 2 คืน หลังเสร็จภารกิจจากงานประจำ คืนแรกตั้งแต่สี่ทุ่มถึงตีสี่
อีกคืนสี่ทุ่มถึงตีสอง ถือว่าเป็นงานด่วนมากงานหนึ่ง เพราะนอกจากตรวจคำผิด
ยังต้องใส่ใจมาก ๆ กับการใช้คำด้วย แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดี
และรู้สึกสุขใจมากที่ได้ทำงานหารายได้พิเศษเพิ่ม ซึ่งเป็นงานที่เรารักและถนัด
แม้ว่างานประจำของเราจะต้องใช้สายตา แข่งกับเวลา และปริมาณงานมหาศาล
แต่เราก็สามารถแบ่งเวลาให้กับงานพิเศษได้

ถึงจำนวนเงินจะไม่มากมายเท่าใดนัก แต่ก็รู้สึกภูมิใจเล็ก ๆ นะคะ
เพราะชีวิตที่ผ่านมาของเรา พ่อแม่ซัพพอร์ตทุกอย่าง
เรียกว่าเรามีพร้อมในระดับหนึ่งที่ไม่ลำบาก ไม่ต้องขวนขวายอะไร
มีหน้าที่เรียนหนังสือให้เก่ง เลี้ยงตัวเองให้ได้ พ่อแม่ก็พอใจแล้ว
ซึ่งทุกวันนี้ถ้าเราไม่มีพ่อแม่ซัพพอร์ตเรื่องที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ และซื้อรถให้
ก็คงลำบากพอตัว เพราะเงินเดือนประจำไม่ได้มากมายอะไร
ที่ทำทุกวันนี้เพราะ “ใจรัก” ล้วน ๆ
และเราเชื่อว่า คงมีหลายคนที่ทำงานเพราะใจรักเหมือนกัน
หรือทำงานใกล้บ้าน เงินเดือนปานกลาง อยู่ในสังคมทำงานที่ดี
ไม่ต้องวุ่นวาย แข่งขัน แย่งชิงตำแหน่งอะไรกับใคร
ไม่รู้สึกแย่ที่ต้องตื่นขึ้นมาแล้วพูดกับตัวเองว่า
“นี่ต้องตื่นไปทำงานอีกแล้วเหรอ” “เช้าวันจันทร์อีกแล้วเหรอ” ฯลฯ
อยู่ในที่ที่เรามีความสุข มีคุณค่าในแบบของเราเอง แค่นี้ก็พอค่ะ ชีวิต.

สำหรับใครที่กำลังมองหานักพิสูจน์อักษร
ติดต่อมาได้นะคะ เพราะงานของเราคือทุกที่ที่มีตัวอักษร
ส่วนใครที่ประกอบอาชีพนี้อยู่แล้ว
จงภูมิใจเสมอค่ะว่า การปิดทองหลังพระ งดงามเสมอ.

 

สิรินัดดา
ติดต่อ : Line id : sirinadda-y
Facebook : Yungie Sirinadda
E-mail : sirinaddaa@gmail.com

ปรู๊ฟสตอรี่ : เมื่อฉันมีเด็กฝึกงาน (2)

 

หลังจากน้องฝึกงานทั้ง 2 คน ผ่านการฝึกงานมาได้ 2 เดือนกว่า
พี่ปรู๊ฟแบบเราก็รู้สึกดีนะที่น้องๆ ช่วยงานได้ดี แม้จะยังมีที่ผิด
ซ้ำซาก ผิดแล้วผิดอีกที่เดิม คำเดิม ที่จำไม่ค่อยได้ บางครั้งฟัง
แต่ก็ไม่จด ก็ทำให้พี่สายเคร่งแบบเราหงุดหงิดบ้าง แต่ก็ไม่เคย
ดุว่าหรอก เพราะเดี๋ยวเราก็ไม่เจอกันแล้วนะจ๊ะ น้องๆ จะได้ไม่ต้อง
ให้พี่คอยแก้ คอยบอก คอยอธิบายแล้ว แต่ระวังเหงาหูนะเทอว์

สำหรับประเด็นที่จะเขียนวันนี้เกี่ยวกับการฝึกงานของนักศึกษา
ไม่เฉพาะกับที่บริษัทเราหรอก แต่ทุกที่นั่นแล
คือเรื่องของ “การติดมือถือ” “ติดคนในมือถือ” “ติดโซเชียลเน็ตเวิร์ก”
ทั้งหลายแหล่ และการไม่เอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน

ถ้างานที่ทำไม่ได้ต้องยุ่งเกี่ยวกับมือถือมากนัก
ก็พักสายตาจาก “หน้าจอ” มือถือ สนใจสิ่งรอบตัวบ้างก็ดีนะจ๊ะ
ถ้ามัวแต่ก้มกดมือถือ ไม่สนใจใคร มันดูไม่ดีหรอก
แล้วเวลาทำงาน ก็ไม่ใช่ว่าชอบลุกไปคุยโทรศัพท์ถี่ๆ ติดกัน
ลุกบ่อยๆ ชาวบ้านจะหาว่าอู้!! มันมีคนชอบจับผิดแบบนี้จริงๆ นะ
ในทุกบริษัทแหละ โดยเฉพาะงานที่มันมีช่องว่างให้เอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน
เช่น งานปรู๊ฟข่าว สิ่งที่พี่จะแนะนำคือ อยากอู้ ต้องอู้ให้เนียนๆ
ไปเข้าห้องน้ำนานๆ สิ! (ตึกโป๊ะ! น้องบอกกูทำอยู่) ไม่ใช่ละ…

ตลกมั้ย? ไม่ตลกสินะ สิ่งที่พี่อยากบอกก็คือ
ไปทำงานที่ไหนก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงด้วย
ไม่ใช่แค่แต่ตัวเอง แต่ควรเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย
กับเพื่อนร่วมงานในแผนก เพื่อนที่นั่งทำงานด้วยกันนั่นแหละ
อย่าเอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน ทำงานก็ทำให้เต็มที่
ไม่เอางานนอกมานั่งทำ ไม่แคร์ใคร บางบริษัทเค้าใจดี
ปล่อยคนแบบนี้ไว้ แต่บางบริษัทก็ไม่ได้ใจดีให้พนักงานมา
นั่งอู้งาน ทำงานอื่น หรือแชตตลอดเวลา
ลองอ่านข่าวนี้เป็นอุทาหรณ์
http://www.thairath.co.th/content/479592
แชตเวลางาน โดนไล่ออกได้ทันที

หรือบริษัทมีเวลาพักให้ 1 ชม. ก็ควรพักตามนั้น
อาจเกินบ้างนิดหน่อย นานๆ ครั้งที่มีธุระ
คนโน้นคนนี้ฝากซื้อของกิน บางบริษัทก็ไม่ได้เคร่งมาก
แต่กฎบางอย่าง ถ้าเราทำได้ดี เราก็รู้แก่ใจใช่ไหมว่าเราทำดี
บางครั้งความดีที่เราทำอาจไม่มีใครเห็น
แต่มันก็น่าภูมิใจไม่ใช่เหรอ กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้
ที่เรารู้แก่ใจว่าเราทำดี

งานบางอย่างมันเป็น ‘งานปิดทองหลังพระ’
ถ้ามีแต่คนปิดทองหน้าพระ แล้วหลังพระจะงดงามได้อย่างไร
“งานปรู๊ฟ” หรือ “งานพิสูจน์อักษร” ก็เป็นงานปิดทองหลังพระ
งานหนึ่งนะคะ หวังว่าเมื่อน้องๆ ได้ฝึกงานจบไป
จะเข้าใจประเด็นนี้ด้วย พิสูจน์อักษรต้องตรวจงานให้เนี้ยบ
อย่าให้มีผิด ถ้าพลาดไปนิดเดียว ก็จะโดนตำหนิ
แต่ถ้าตรวจถูกหมด มันก็ไม่ได้มีความดีปรากฏ
แต่มันน่าภูมิใจจะตาย ที่ไม่มีใครตำหนิเราได้

อีกไม่กี่สัปดาห์ น้องๆ ก็จะฝึกงานจบแล้ว
หวังว่าจะได้ข้อคิด หรืออะไรกลับไปจากการทำงาน
มากกว่ารายงานที่ต้องทำส่งอาจารย์นะคะ

ขอให้โชคดีกับชีวิตการทำงานค่ะ.