Tag Archives: งานตรวจปรู๊ฟ

พิสูจน์อักษร 2567

พิสูจน์อักษร

1.

เชื่อว่าคนทั่วไปรู้ว่ามีอาชีพนักพิสูจน์อักษร (Proof Reader) เชื่อว่าหลายคนไม่รู้ว่ามีอาชีพนี้อยู่ด้วย เชื่อว่าหลายคนไม่ได้ตั้งใจอยากจะเป็นพิสูจน์อักษรจริงๆ เชื่อว่าหลายคนเรียนจบภาษาไทยมาโดยตรง จึงมาเป็นพิสูจน์อักษร เชื่อว่ามีหลายคนคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีอาชีพนี้อยู่ก็ได้ ตราบใดที่นักเขียนทุกคนมีวินัยในการเขียน ใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง…ฯลฯ

Proof หรือที่เรียกด้วยสำเนียงคนไทยแท้ๆ ว่า “ปรู๊ฟ” เป็นตำแหน่งงานเล็กๆ หนึ่งในวงการหนังสือ แน่นอนว่าพิสูจน์อักษรเป็นตำแหน่งที่จำเป็นต้องมี ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ สำนักพิมพ์ที่ออกหนังสือประเภทต่างๆ เช่น นิตยสาร พ็อกเก็ตบุ๊ก นวนิยาย ฯลฯ ก่อนจะผ่านไปสู่
สายตาผู้อ่าน ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์อักษรทั้งสิ้น

ที่ตำแหน่งพิสูจน์อักษรมีความจำเป็นมาก อาจเพราะเงื่อนไขของเวลา เช่น หนังสือพิมพ์ นักข่าวมีหน้าที่สำคัญในการรวบรวมเรื่องราวที่ได้พบเห็นมาเขียนเป็นข้อข่าว ต้องแข่งขันกับเวลา ดังนั้น การเขียน (หรือปัจจุบันใช้วิธีการส่งข่าวโดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ) จึงมีข้อผิดพลาดได้ง่าย พิสูจน์อักษรมีหน้าที่อ่านข้อข่าวนั้น และตรวจทานความถูกต้องเรื่องตัวสะกด การเว้นวรรค ชื่อบุคคลที่เป็นข่าว แหล่งข่าว การใช้คำฟุ่มเฟือยต่างๆ และบางครั้งอาจหมายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงประโยคให้สละสลวย การใช้คำสลับกัน การหลากคำในกรณีที่ผู้เขียนใช้คำมาซ้ำๆ กัน เพื่อให้ข้อเขียนนั้น อ่านแล้วราบรื่น ไม่สะดุด เป็นต้น

หนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ระดับประเทศ ยอดขายดี ทั้งประเภทเพ่งปริมาณ และเพ่งคุณภาพ ต้องมีปรู๊ฟทำงานจำนวนมาก สลับกันทำงานเป็นกะ เพื่อรองรับข่าวที่จะเผยแพร่ในแต่ละวัน ส่วนนิตยสาร 1 เล่ม อย่างน้อยอาจจะมี “ปรู๊ฟ” 1-2 คน แล้วแต่ความใหญ่ของหัวหนังสือ แต่ส่วนมาก นิตยสาร 1 เล่ม จะมีปรู๊ฟเพียง 1 คน

ปรู๊ฟ จึงเป็นงานที่มีความสำคัญงานหนึ่งในวงการหนังสือ ที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าเพราะตัวเองเป็นปรู๊ฟ…ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่จับพลัดจับผลูมาเป็นปรู๊ฟสมัครเล่น ได้ 4 เดือนแล้ว (ปัจจุบัน เข้าสู่ปีที่ 4) ในความเป็นจริง ผู้เขียน ‘ฝัน’ อยากเป็นนักเขียน เขียนบทความ เขียนนวนิยาย ทำงานอะไรก็ได้ที่ได้เขียน และมีคนอ่าน…แต่นาทีนี้ ผู้เขียนก็รู้ว่าความฝันกับความจริงนั้นต่างกันมากเพียงใด ถึงแม้ว่างานพิสูจน์อักษรจะมิใช่งานในฝันของผู้เขียน มิใช่งานที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ มิใช่งานที่ใครๆ ก็ใฝ่ฝันจะทำ

หมอสิของจริง วิศวะสิเท่ เภสัชฯ สิเจ๋ง บริหารก็เลิศ การตลาดก็ไม่เจ็บตัว…ภาษาไทยรึ โบราณ….!

ถึงว่าความจริงจะเป็นอย่างนั้น แต่ตำแหน่งพิสูจน์อักษรก็น่าตกหลุมรักอยู่นะ.

2.

หากจะกล่าวถึงความสำคัญของพิสูจน์อักษร…(เชื่อว่า) มีอยู่หลายประการ ถ้าเป็นการพิสูจน์อักษร “ข้อข่าว” ตำแหน่งปรู๊ฟ ช่วยร่นระยะเวลาในการตรวจทานคำผิดคำถูกลงได้ เพราะสิ่งที่นักข่าวให้ความสำคัญลำดับแรกคือเนื้อหา และความรวดเร็วในการนำเสนอข่าว อาจรีบจนตกหล่นไปบ้าง หรือกระทั่งการพิสูจน์อักษรข้อเขียน สกู๊ป บทความในนิตยสารต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน แม้ระยะเวลาจะมิได้ถูกจำกัดเช่นการนำเสนอข่าว แต่ก็เป็นไปได้ว่า อาจมีหลงหูหลงตาไป ยิ่งสมัยนี้ คงจะมีนักเขียนน้อยรายที่จะเขียนต้นฉบับด้วยลายมือ คงมีเฉพาะนักเขียนรุ่นใหญ่เท่านั้นที่สำนักพิมพ์จะรับต้นฉบับตัวเขียน การใช้คอมพิวเตอร์สร้างสรรค์ต้นฉบับในปัจจุบัน จึงมีข้อผิดพลาดได้ง่ายกว่าการจดปากกาด้วยตนเอง ดังนั้น พิสูจน์อักษร จึงทำหน้าที่ช่วยตรวจทานความถูกต้องของต้นฉบับอีกครั้ง ก่อนที่จะส่งให้บรรณาธิการในลำดับถัดไป

ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ “ภาพลักษณ์ขององค์กร” หากปล่อยให้มีการใช้คำภาษาไทยผิดๆ หลุดออกไปเสมอ เชื่อว่านักอ่านจะส่ายหัวไม่ยอมรับ และเกิดคำถามในใจว่า “ทำไมไม่รู้จักตรวจทานเนื้อหา” “ทำไมถึงใช้ภาษาไทยไม่เป็นกัน” ดังนั้น ตำแหน่งพิสูจน์อักษรจึงเป็นตำแหน่งที่เป็นคนเบื้องหลังอย่างแท้จริง เช่น หากหนังสือเล่มหนึ่งถูกเขียนออกมาดีเลิศ เนื้อหาโดนใจ อาร์ตเวิร์กดี สำนักพิมพ์ นักเขียนย่อมได้รับคำชม จะไม่มีใครบอกว่า เฮ้ย หนังสือเล่มนี้ดีจัง สะกดคำถูกทุกคำเลย เว้นวรรคอ่านง่าย…แต่ถ้าเมื่อไหร่ ที่มีคำผิด หรือ
ความผิดพลาดทางภาษาอื่นๆ ออกไป แน่นอนว่าคนที่จะโดนตำหนิคนแรกคือ “ปรู๊ฟ”
งานนี้จึงเป็นงาน “ปิดทองหลังพระ” อย่างแท้จริง

3.

ปรู๊ฟทำอะไร ขอบเขตหน้าที่มีแค่ไหน ? ตัวชื่อของมันเองบ่งบอกอยู่แล้วว่า “พิสูจน์อักษร” หลักๆก็คือการตรวจดูความเรียบร้อยของอักษร ทั้ง คำ วลี ประโยค ตั้งแต่การสะกดคำ การวางประโยค การไม่ใช้สำนวนต่างประเทศ การใช้คำฟุ่มเฟือย การใช้คำซ้ำๆ ไม่สละสลวย ตัวอย่างเช่น  นายกฯ กล่าวถึง สถานการณ์ คำว่า อุทกภัย และคำว่าน้ำท่วม มีความหมายเดียวกัน เราสามารถเลือกใช้เพียงหนึ่งคำได้ หรือการใช้คำเชื่อมซ้ำๆ เช่น  วันนี้ฉันต้องตื่นเช้าไปออฟฟิศ ตั้งอยู่ย่านถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ฯลฯ ปรู๊ฟสามารถหลากคำเชื่อมที่ซ้ำนั้นให้อ่านแล้วไม่สะดุดได้ คำเชื่อมหลักๆที่ใช้ ประจำ เช่น ที่ ซึ่ง อัน เมื่อ เนื่องจาก นอกจากนี้ นอกจากนั้น เป็นต้น นอกจากการดูเรื่องของตัวสะกด การใช้คำ การใช้ประโยคแล้ว การใช้เครื่องหมายวรรคตอน และการเว้นวรรคก็เป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่ง ที่จะต้องจัดให้อ่านง่าย สบายตา เพราะโดยปกติ คนเราจะไม่ชอบอ่านอะไรที่ยืดยาวต่อกันเป็นพรืด ฯลฯ (เช่น blog ของผู้เขียน)

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องของชื่อบุคคล สถานที่ วันที่ ปี พ.ศ. อักษรย่อ เช่น การพิสูจน์อักษรข่าว เรื่องชื่อบุคคลที่เป็นข่าวมีความสำคัญมาก ปรู๊ฟมีหน้าที่เช็กให้เรียบร้อย รวมถึงเรื่องของวันที่ ชื่อของหน่วยงานต่างๆด้วย เพราะหากปล่อยผิดไป มีสิทธิ์ที่เจ้าของชื่อ หรือหน่วยงานจะฟ้องเอาได้ เป็นต้น นอกจากนี้เมื่ออ่านเนื้อหาของงานชิ้นนั้นๆแล้วเกิดความสงสัย กำกวม ไม่แน่ใจ ปรู๊ฟมีหน้าที่ประสานกับนักเขียน เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ของเขตหน้าที่ของพิสูจน์อักษร ในบางองค์กร เช่น นิตยสาร สำนักพิมพ์ อาจมอบหมายให้ปรู๊ฟดูแลการจัดหน้า การจัดภาพประกอบด้วย หรือบางแห่ง อาจระบุขอบข่ายงานให้เน้นเรื่องการใช้คำ การใช้ประโยค ดูเรื่องคำผิดคำถูกเท่านั้น ส่วนหน้าที่ในการเรียบเรียงให้สละสลวย อาจเป็นหน้าที่ของรีไรท์เตอร์ ในลำดับถัดไป แต่หลักๆก็มีดังที่ผู้เขียนกล่าว.

4.

จริงหรือที่เขาว่ากันว่า ใครใครก็เป็นปรู๊ฟได้ !?! (ไม่เข้าใจคำไหนก็เปิดพจนานุกรมเอาสิ)…
ขอตอบว่าไม่จริง…และที่กล่าวกันว่า จบเอกภาษาไทยมา ต้องเทพในงาน “ปรู๊ฟ” มากๆแน่ ซึ่งก็ไม่จริงอีกเหมือนกัน…ลองมาดูกันดีกว่าว่า คนที่จะทำงานพิสูจน์อักษรได้ดีควรมีลักษณะอย่างไร

– มีใจรักภาษาไทย (อันนี้สำคัญมาก)

เพราะมันไม่ใช่แค่ว่า ไม่รู้คำไหน สะกดไม่ถูกแล้วเปิดหา แต่ควรมีใจรักในภาษาไทย รักที่จะค้นหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งสำนวน คำพังเพย สุภาษิต การวางประโยค การใช้คำ คำสแลงปัจจุบัน เป็นต้น ไม่พอใจ หงุดหงิดทุกครั้งที่ได้อ่านงานเขียน แล้วพบว่าใช้ภาษาไทยผิดอย่างไม่น่าให้อภัย  เช่น การใช้คำขานรับ ค่ะ คะ  อ่านแล้วอยากแก้ รู้สึกว่าตรงนี้ใช้ไม่ถูก ควรจะใช้อีกคำมากกว่า รู้สึกว่ารักภาษาไทย และอยากให้คนอื่นๆใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องด้วย

– รักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ
รักการอ่านเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่พิสูจน์อักษรทั่วไปมีอยู่ในตัว เพราะงานที่ต้องทำ มันคือการอ่านล้วนๆ
หากเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะประเภทไหนก็ตาม ก็จะทำงานปรู๊ฟได้สบาย เพราะการอ่านมากนั่นเอง ที่จะทำให้ร่นระยะเวลาในการเช็กคำต่างๆ เมื่อเราเจอคำหนึ่งคำซ้ำๆ เรารู้ว่ามันใช้ยังไง เมื่อเจอคราวต่อไป เราก็ไม่ต้องไปค้นหาอีกแล้ว เช่น คำว่า ตระเวน บ่อยครั้งที่ เขียนผิดเป็น ตระเวณ (อาจเพราะคุ้นกับคำว่า บริเวณ) ก็เลยใช้ผิดได้ ดังนั้น การอ่านหนังสือมากๆ ย่อมทำให้มี “คลังคำ” เก็บสะสมไว้ เวลาเราทำงานก็จะทำได้รวดเร็วมากขึ้น

– ช่างสังเกตและรอบคอบ

ช่างสังเกตและรอบคอบถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นพิสูจน์อักษร เพราะงานของพิสูจน์อักษรคือการอ่านเพื่อ “จับ (คำ) ผิด” แล้วแก้ไขให้ถูกต้อง ดังนั้น จึงต้องช่างสังเกต ใช้ความรอบคอบระมัดระวังในการอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านงานในคอมพิวเตอร์ ย่อมมีบางเวลาที่สายตาจะเบลอได้ (ผู้เขียนน่ะประจำ!)

-ทนอ่านเรื่องราวซ้ำไปซ้ำมาได้

ถ้าหากทำงานตำแหน่งพิสูจน์อักษรกับสำนักพิมพ์ จะได้อ่านหนังสือเป็นเล่มๆ ดังนั้น การอ่านหลายครั้งเพื่อตรวจทานความถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ดังนั้น ปรู๊ฟควรสามารถอ่านเรื่องราวซ้ำไปซ้ำมาได้อย่างไม่รู้เบื่อ

5.

นี่เป็นเพียงมุมมองของผู้เขียน ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์การทำงานพิสูจน์อักษร ในระยะเวลา 4 เดือน และตามความเข้าใจของผู้เขียนเอง ผู้เขียนยังเป็นปรู๊ฟที่ไม่ได้ความ บางครั้ง สมาธิก็ปลิวหาย บางครา สายตาก็พร่ามัวเหมือนคนแก่ เคยมีใครสักคนบอกกับผู้เขียนว่า คนที่ทำงานปรู๊ฟส่วนใหญ่จะมีอายุ ชอบทำงานอยู่กับที่ ถ้ายังเป็นช่วงกำลังจะเป็นผู้ใหญ่ หรือวัยรุ่น มักจะทำงานนี้ไม่ค่อยทน เพราะวัยนี้ยังเป็นวัยที่ชอบความท้าทาย ออกไปลุยๆ ไปเจอผู้คนมากมาย มากกว่านั่งอยู่กับที่…ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าวัยอย่างผู้เขียน จะทำงานนี้ไปได้สักเท่าไหร่ บางครั้งมันก็ไม่ใช่เรื่องของงานที่ชอบ งานที่ใช่ ที่คนหนุ่มๆสาวๆเค้าพูดกันเพียงอย่างเดียว เหตุผลอย่างเช่น เพื่อนร่วมงานดี เจ้านายน่ารัก ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อยากจะทำงานนั้นๆต่อไป

“งานที่ดีที่สุด ไม่ใช่งานที่ได้เงินเดือนเยอะที่สุด แต่เป็นงานที่ทำให้คุณมีความสุขที่สุดเมื่อได้ทำ”

งานปรู๊ฟอาจไม่ใช่งานที่ดีที่สุด ไม่ใช่งานที่รักจะทำมากที่สุด ไม่ใช้งานที่ได้เงินเดือนที่เยอะที่สุด

ไม่ใช่งานที่มีความสุขที่สุดเมื่อได้ทำ แต่อย่างน้อย…ก็เป็นงานที่สามารถจะตื่นไปทำได้โดยสบายใจ ไม่อิดออด

ไม่รู้สึกเหมือนโลกจะถล่มทลายตอนที่ต้องงัวเงียนั่งรถไปเรียนป.โท (อุ๊ย รื้อฟื้น)

ไปทำงานทุกวันด้วยความสดชื่น…จริงๆ ก็ชักไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเพราะงานน่าทำ หรือเพราะใครบางคนหรือเปล่า

ที่ทำให้ไม่อยากหยุดงานสักวันเดียว.

ระดับความเพ้อ : 40 %

สาระ 60 %

ส่งท้าย
ใครหลงมาอ่านแล้วเห็นผู้เขียนเขียนผิด ก็บอกกันได้
ก็ผู้เขียนมัน “ปรู๊ฟ” มือสมัครเล่นนี่นา.

 

อัปเดตล่าสุด : ทำงานพิสูจน์อักษรครบ 13 ปี แล้วค่ะ
ไม่ใช่มือสมัครเล่นแล้ว
ติดต่องานตรวจพิสูจน์อักษรข้อเขียนต่าง ๆ ได้ที่

Line ID : sirinadda-y

Facebook : Sirinadda Sukathap

E-mail : sirinaddaa@gmail.com

เพราะเราเชื่อว่าความรู้ของเราช่วยประหยัดเวลาให้คุณได้