คำที่มักเขียนผิด ตอนที่ 1


ภาษาไทย – ภาษาของคนไทยทุกคน

ผู้เขียน blog ขอออกตัวก่อนว่า ไม่ใช่คนที่เก่งกาจหรือเชี่ยวชาญ
เกี่ยวกับการศึกษาภาษาไทยอย่างแตกฉาน เป็นเพียงนักศึกษาภาษาไทยคนหนึ่งที่
ยังต้องอ่านหนังสือและวรรณคดีอีกมาก – และเชื่อว่ายังคงต้องเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด

คราวก่อนได้อธิบายเรื่องมุมมองของภาษาวิบัติไป
blog วันนี้ อยากเสนอ “คำที่มักเขียนผิด”
ซึ่งรวบรวมจากที่ผู้เขียนได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน รวมทั้งบางคำที่ผู้เขียน
ก็เคยเขียนผิดเองด้วย หากต้องการศึกษาเกี่ยวกับการสะกดคำที่ถูกต้องอย่างละเอียด
แนะนำให้อ่านหนังสือ “อ่านอย่างไร เขียนอย่างไร” ของราชบัณฑิตยสถาน
ซึ่งรวบรวมการอ่านคำและการเขียนคำที่ถูกต้องอย่างละเอียดไว้
หมายเหตุ : ถ้าคำไหนที่คิดว่าไม่เห็นด้วย สามารถวิจารณ์หรือชี้แนะได้นะคะ : )

>  สีแดง : หมายถึงคำที่เขียนผิด , สีดำ : หมายถึงคำที่เขียนถูกต้อง
>
>

คำที่มักเขียนผิด คำที่เขียนถูกต้อง

1. กงกรรมกงเกวียน กงเกวียนกำเกวียน

เรามักพูดกันด้วยความชินปากว่า “กงกรรมกงเกวียน”
ซึ่งแท้จริงแล้วที่ถูกต้อง คือ “กงเกวียนกำเกวียน”คำนี้เป็นสำนวน
หมายถึง  กรรมสนองกรรม เวรสนองเวร  อุปมาคือ ทำอย่างไรวันหนึ่งก็อาจเจอแบบนั้น

2. เกมส์ เกม

เกมส์ คำนี้มักเขียนผิดกันมาก  ที่ถูกต้องใช้ว่า “เกม”
เพราะเราทับศัพท์ภาษาอังกฤษมา จากคำว่า “game”
ไม่มีเสียง /s/ ท้ายคำ จึงไม่จำเป็นต้องใส่ ส.เสือ การันต์ ต่อท้าย เพื่อไม่ออกเสียง
ใช้กับกรณีการกล่าวถึง “เกม” ทั่วไป เช่น เด็กๆ ชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์

ส่วนคำว่า “เกมส์” จะใช้ในกรณีเฉพาะ เช่น
Asian Games, Olympic Games  << ที่เติม ส์ เพราะเป็นชื่อเฉพาะ
และ games มี s เป็นพหูพจน์ต่อท้าย  ตัว s นี้ ไม่ออกเสียง จึงใส่ ส. การันต์

3. สังเกตุ สังเกต

ผู้ใช้ภาษามักใช้ผิดเป็น “สังเกตุ” อาจเกิดจากความเคยชินจากการใช้คำว่า
“อุบัติเหตุ, เหตุการณ์” ซึ่งต้องมีสระอุ ส่วนคำว่า สังเกต  ที่ถูกต้อง จะต้องไม่มีสระอุ

4. โควต้า โควตา

คำว่า โควตา ทับศัพท์มาจากภาษาต่างประเทศคือ “Quota”
มักเขียนผิดโดยเพิ่มวรรณยุกต์โทเข้าไปด้วย ที่ถูกจะต้องไม่มีวรรณยุกต์โทกำกับ

5. ทะเลสาป ทะเลสาบ

ผู้ใช้อาจสับสนกับ คำว่า “สาป”  ซึ่ง หมายถึง  แช่ง ให้เป็นไปต่างๆ
“สาบ” มีหลายความหมาย ที่ใช้ว่า ทะเลสาบ นั้น  สาบ หมายถึง  แหล่งน้ำที่ใหญ่
คล้ายๆ บึง แต่โตกว่า

6. สามเศร้า สามเส้า

เรามักจะได้ยินการใช้คำว่า รักสามเส้า
และมักจะเขียนผิดเป็น “รักสามเศร้า” อยู่เสมอ
ผู้เขียนเองเคยใช้ผิดเมื่อเป็นเด็ก เพราะคิดว่า ความรักแบบสามคนนั้น
มันเป็นเรื่อง “เศร้า” เลยใช้ผิด  แท้จริงต้องใช้ว่า “รักสามเส้า”

7. กาละเทศะ กาลเทศะ

คำนี้เป็นอีกหนึ่งคำยอดฮิตที่มักใช้ผิด เนื่องจากคำนี้อ่านว่า  “กา – ละ – เท – สะ”
การเขียนตามเสียงอ่านจึงอาจผิด โดยใส่สระ อะ เข้าไปด้วย  ที่ถูกต้องคือ “กาลทะศะ”
หมายถึง  ความไม่ควรแก่สถานที่หรือเวลา

8. คอลัมภ์, คอลัมม์ คอลัมน์

คอลัมน์  เป็นคำทับศัพท์ มาจากคำว่า “column”
เมื่อทับศัพท์เช่นนี้ มีเสีย /n/ อยู่ข้างท้าย เราไม่ออกเสียง จึงใช้ /น/ การันต์ ไว้
คอลัมน์ หมายถึง แถบที่เรียงกันลงมาเป็นแนวตั้ง ในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร  มัก
แบ่งข้อความหรือความเรียงออกเป็นหลายๆ คอลัมน์ เพื่อสะดวกแก่การอ่าน และการจัดวาง

9. อนุญาติ อนุญาต

ดอกจันตัวโตๆสามร้อยดอก** คำนี้มักเป็นคำที่เขียนผิดกันบ่อยมากๆ
เวลาที่อ่านใน social network ต่างๆ เช่น facebook
ผู้ใช้อาจสับสนกับคำว่า  “ญาติ” ซึ่งหมายถึง พี่ๆ น้องๆ  คำว่าญาติ เดี่ยวๆ ต้องมีสระอิ
แต่ว่า “อนุญาต” ที่หมายถึง การยินยอมนั้น ไม่มีสระ อิ

10.  เท่ห์ เท่
คำว่า เท่  เป็นสแลง ถ้าจะชมใครว่า ดูดี โคตรแนว บลา บลา  ต้องใช้ว่า “เท่”
ส่วน “เท่ห์”  คำนี้ ที่มีการันต์  มันมีความหมายของมันอยู่  เท่ห์ หรือ เทห
เป็นภาษาบาลี สันสกฤต มีความหมายว่า “ร่างกาย”
แต่คนโดยทั่วไปมักสับสนคำว่า “เท่” กับ “เท่ห์” ใน ฉงนสนเท่ห์ <<
ฉงนสนเท่ห์  ต้องมี ห หีบ การันต์ ในขณะที่ เท่ ที่แปลว่า ดูดี ไม่ต้องมี ห การันต์

11. ธำรงค์ ธำรง

ธำรง ในที่นี้ หมายถึง การคงไว้ ชูไว้ เช่น
“ เราควรธำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์”
มักสะกดผิด โดยเพิ่ม ค ควาย การันต์เข้ามาด้วย
ผู้ใช้ภาษาไทยอาจสับสนกับคำว่า  ธำมรงค์  ราชาศัพท์ที่แปลว่า แหวน
คำว่า ธำมรงค์ นั้นมี การันต์ ส่วน ธำรง นี้ ไม่มี

12. อินเตอร์เน็ต, อินเตอร์เนท อินเทอร์เน็ต

คำว่า “Internet” เป็นคำทับศัพท์ที่เรามักใช้กันอยู่เป็นประจำ
ในชีวิตประจำวัน แต่มักจะย่อกันว่า “net” คำนี้ มักเขียนกันว่า อินเตอร์เน็ต
มานมนาน แต่ที่ถูกต้องตามหลักการทับศัพท์ ต้องใช้ว่า “อินเทอร์เน็ต”

13. ผูกพันธ์  ผูกพัน

*** คำนี้ก็เป็นอีกคำยอดฮิตที่มักใช้กันผิด  ผู้ใช้ภาษา อาจสับสน
กับคำว่า “สัมพันธ์”  แท้จริงแล้วเป็นคนละคำกัน  พันธ์ หมายถึง  ผูก มัด ตรึง
เช่นที่ใช้กันว่า “พันธะ”

14. หอมหวล หอมหวน
อบอวน อบอวล

คำสองคำนี้มีความหมายใกล้กันมาก คือ ใช้กับสัมผัส “กลิ่น”
มีความหมายถึง เต็มไปด้วยกลิ่น มักใช้กับกลิ่นพึงประสงค์ เช่น
อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของดอกไม้  ขนมไทยนี้หอมหวนดีจริง ฯลฯ

15.เลือกสรรค์ เลือกสรร

*** คำนี้ก็มักใช้ผิดบ่อย  “สรร”  แปลว่า เลือก คัดเลือก  จึงต้องใช้ว่า “เลือกสรร”
“สรรค์”  แปลว่า  สร้างให้มีขึ้น มักใช้คู่กับคำว่า สร้างสรรค์
คือการสร้างให้มีขึ้นนั่นเอง

16. เวทมนต์, เวทย์มนต์ เวทมนตร์

คำว่า มนต์, มนตร์ เขียนได้สองแบบ
แต่คำว่า เวทมนตร์ ให้ใช้ มน + ต.เต่า +ร.เรือ การันต์
เพราะคำว่า มนต์ จะใช้เกี่ยวกับศาสนาพุทธ เช่น
เจริญพระพุทธมนต์, สวดมนต์ ฯลฯ
ในขณะที่ มนตร์ จะใช้กับศาสนาอื่น
หรือจำง่ายๆ ว่า พวกมนตร์คาถา เวทมนตร์
อะไรที่ไม่ใช่เชิงพุทธ และส่อไปในทางลึกลับหน่อยๆ
สะกดด้วย มนตร์ 

17. โลกาภิวัฒน์ โลกาภิวัตน์

คำนี้เป็นอีกคำที่มักจะเขียนผิดกัน  เพราะเราชินกับคำว่า วัฒนา
เลยอาจสะกดคลาดเคลื่อนได้ โลกาภิวัตน์ เป็นศัพท์บัญญัติ
จากคำว่า globalization  หมายถึง  การที่มนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของโลก
สามารถรับรู้ ติดต่อสื่อสาร ได้อย่างรวดเร็ว

18. โอกาศ โอกาส

คนมักสับสนกับคำว่า “อากาศ”  จึงใช้เป็นโอกาศไปด้วย ที่ถูกต้องคือ “โอกาส”

19. โล่ห์ โล่

โล่  ที่เป็นเครื่องศัตราวุธ ป้องกันกำบังในการทำศึก ที่มักใช้คู่กับหอก
ไม่มี ห หีบ การันต์ เช่นเดียวกับ โล่ ในความหมายที่หมายถึง
สิ่งที่มอบให้ผู้แข่งขันที่ชนะเลิศ ก็ใช้ว่า “โล่” เช่นเดียวกัน

20. คำที่เขียนได้ 2 แบบ

น่าสนใจอยู่ 1 คำ ที่ตอนแรก ผู้เขียนเข้าใจมาตลอดว่าควรใช้แบบนี้เท่านั้น
คือคำว่า “ร่ำลา” ตั้งแต่เป็นเด็กๆ มา ก็ใช้ ร่ำลามาตลอด วันดีคืนดีได้เจอนวนิยาย
ของสำนักพิมพ์หนึ่ง สะกดว่า “ล่ำลา”
ผู้เขียนก็สงสัยว่าปรู๊ฟไม่ละเอียดหรือยังไง แต่เมื่อไปหาข้อมูล ก็พบว่า
ปัจจุบัน ราชบัณฑิตยสถานได้ประกาศให้ใช้ได้ทั้ง ๒ คำ  คือ “ล่ำลา” และ “ร่ำลา”
ความหมายเดียวกันกับ ลา  อำลา

“คำที่มักเขียนผิด” นี้เกิดจากการที่ผู้เขียนเห็นเพื่อนพ้องใน social network
สะกดคำบางคำไม่ถูกต้อง ก็เลยลองรวบรวมบางส่วนตามที่เข้าใจ
และบางส่วนจากที่เรียนมา นำมาไว้ใน blog นี้
หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนผ่านมาอ่านไม่มากก็น้อย – หรือถ้ารู้แล้วก็ขออภัย 😀

>
>

ส่งท้าย :  อยากรู้จังว่าคุณๆ ผู้อ่าน มีคำไหนในนี้ที่เคยสะกดผิด
หรือยังสะกดผิดกันอยู่บ้างไหม และมีความเห็นอย่างไร
ต่อการสะกดคำผิดของเยาวชนในปัจจุบัน
ผ่านมาบอกกันได้นะ ^^

11 responses to “คำที่มักเขียนผิด ตอนที่ 1

  1. กรี๊ดดดดดดดดดดด ผิดพิมพ์ผิดไปตั้งนาน หายคำอยู่ อายวะ อิอิ

    ขอบคุณๆสำหรับความรู้ดีๆ

  2. เป็นประโยชน์มากค่ะ โดยเฉพาะ ‘รักสามเส้า’

  3. ถ้าไม่เข้ามาดูนี่คงไม่รู้ว่า “โลกาภิวัตน์” เขียนแบบนี้
    -คือเขียนผิดมาตลอด- เป็นประโยชน์มากค่ะ

  4. เป็นประโยชน์มากเลยค่ะ

  5. หลายคำที่เคยเขียนผิด ได้ความรู้มากค่ะ ขอบคุณค่ะ

  6. วีรญาณ์ รุ่งเรือง

    ได้ความรู้ ดีมากค่ะ

  7. ได้ความรู้มากๆครับ

  8. เคยเขียนคำว่า “โลกาภิวัตน์” ผิดค่ะ 555

ใส่ความเห็น